REACH SVHC

คิดจากน้ำหนักของ "Article" ณ ตำแหน่งแรกที่ Article นั้นเกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

กรณีสินค้าที่มีลักษณะเป็น "Complex Article" หรือเป็นสินค้าที่มี Article หลายชิ้นประกอบกัน จะคิดที่น้ำหนัก Article แต่ละชิ้น หรือคิดง่ายๆ คือ พิจารณาชิ้นส่วนแต่ละชิ้น แยกจากกัน ไม่เอา น้ำหนัก สารเคมี ฯลฯ มารวมกัน

คำถามนี้ตอบยาก

ถ้าเป็นผู้ผลิตสารเคมี/เคมีภัณฑ์ คงรู้ดีว่าใช้สารเคมีอะไร บริษัทยุ่งเกี่ยวกับสารเคมีใดบ้าง สารเคมีแต่ละรายการมีความเป็นอันตรายอะไรบ้าง (ดูจาก ข้อมูล SDS) และเมื่อนำมาผสมกันเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทแล้ว สารใหม่ที่ได้จะเป็นอะไร มีความเป็นอันตรายอะไรบ้าง (SDS ที่บริษัทต้องจัดทำ)

แต่ถ้าเป็นผู้ผลิตสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์แล้ว เชื่อว่าไม่น่าจะมีใครรู้จักหรือใช้ SVHC-C ทุกรายการ จะรู้จักก็แต่เฉพาะสารที่ใช้/ซื้อหาเข้ามาในกระบวนการผลิต แต่ถึงกระนั้นก็ดี ชื่อสินค้าที่ซื้อขายกัน ก็ไม่ได้ใช้ชื่อเคมีเหมือนอย่างที่ ECHA ใช้ เราก็คงต้องดูกันที่ CAS No.

สำหรับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ ถ้าอยากจะรู้ว่า SVHC-C แต่ละรายการคืออะไร ลองไปดาวน์โหลดเอกสาร "Summary of REACH SVHC Candidate List" ที่ MTEC ทำสรุปไว้ให้ดู ข้อมูลเกี่ยวกับประเภท-วัตถุประสงค์การใช้งาน และลักษณะการใช้งานที่รวบรวมไว้ให้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสำรวจสินค้า (วัสดุเสี่ยง) ในบริษัทได้ 

 

 

 

 

 

 

 

 

ขึ้นกับว่าต้องการ Cert สำหรับสินค้าประเภทใด (แต่ตั้ง Budget ไว้เท่าไร?)

ถ้าสินค้าเป็นเคมีภัณฑ์ ที่ง่ายๆ เช่น น้ำ หรือแอลกอฮอล์ Lab วิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็สามารถทดสอบให้ได้เกือบทุกรายการ บาง Lab อาจใจดีรวมกลุ่มสารและวิเคราะห์รวมกันให้เพื่อลดค่าทดสอบ (เช่น ทดสอบตะกั่ว เพื่อยืนยัน SVHC-C กลุ่มสารประกอบตะกั่วทั้ง 27 รายการทีเดียว) แต่แม้จะทำถึงขั้นนี้แล้วก็ตาม ค่าใช้จ่ายก็ยังจะสูงเพราะใน List มีสารเคมีที่ทดสอบยากหลายรายการ เช่น PBDE, HBCDD, SCCP, PFOS, PFOA, Aniline, Azo, ...

ถ้าเป็นชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ถ้าผู้ผลิตไม่มีกระบวนการ หรือไม่มีการจัดการใดๆ ที่จะทำให้สามารถรับรองตนเองได้แล้ว เชื่อว่าไม่น่าจะมี Lab ไหนสามารถรับประกันสินค้าแทนผู้ผลิตได้ หรือถ้ามี Lab ไหนออกให้ ลูกค้าก็คงไม่เชื่อ แถมจะลามไปถึงความเชื่อมั่นของตัว Lab ที่ให้ใบรับรองนั้นด้วย การรับรอง SVHC-C เราดูกันที่ส่วนผสมสารเคมีในเนื้อผลิตภัณฑ์ ซึ่งมันแปรผันตามสารเคมีและกระบวนการผลิตที่ Supplier ใช้ตลอดสายโซ่การผลิต เปลี่ยน Supplier ส่วนผสมก็เปลี่ยน Supplier เปลี่ยนแหล่งวัตถุดิบ ส่วนผสมก็เปลี่ยน ผู้ผลิตปรับกระบวนการผลิต ส่วนผสมก็เปลี่ยน ถ้าคุมตลอดเส้นทางนี้ไม่ได้ ใบ Cert ก็เป็นแค่กระดาษที่เปื้อนหมึก

มากไปกว่านั้น รายชื่อ SVHC-C โตขึ้นทุก 6 เดือน Lab ที่ทดสอบ/รับรองสินค้าให้ได้ในวันนี้ ไม่มีทางรู้เลยว่า สินค้านั้นๆ จะมีส่วนผสมของสารเคมีใน List ใหม่หรือไม่ จึงไม่มีใครบอกได้ว่าสินค้าจะเป็น "REACH Compliant" 

ถ้าดูกันดีๆ จริงๆ แล้ว REACH SVHC-C ไม่ได้มีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับตัวสินค้า จึงไม่มีสินค้าที่เป็น "REACH Compliant" ไม่เหมือน RoHS/ELV แต่ REACH มีข้อกำหนดให้ผู้ประกอบการตลอดสายโซ่การผลิตต้องทำหน้าที่ของตนเอง เพื่อทำให้ทุกคนสามารถใช้สารเคมีกันได้อย่างปลอดภัย การโยนภาระไปให้ Lab ทำหน้าที่นี้แทน ก็คงไม่ช่วยให้ บริษัท, Supplier, หรือลูกค้าได้รับความปลอดภัยมากขึ้น  

แล้วควรทำอย่างไร?

สำรวจสารเคมีในผลิตภัณฑ์ของตนเองก่อน ดูว่ามีอะไรบ้าง และมีอะไรที่เป็นสารอันตรายที่ควรต้องเป็นห่วงบ้าง เริ่มจากบัญชี SVHC-C ก่อน ถ้าดูแล้วไม่รู้ว่าในสินค้าที่ผลิตมีสารเคมีอะไรภายในบ้าง ก็คงต้องถาม Supplier ถ้าพบว่ามีสารที่ต้องเป็นห่วง ก็ต้องตัดสินใจต่อว่าจะใช้ต่อ หรือจะเลิกใช้ (เปลี่ยนสูตรหรือเปลี่ยน Supplier แล้วแต่กรณี)

ถ้าจะใช้ต่อ ก็มาดูต่อว่าสารนั้นๆ มันเป็นอันตรายอย่างไร ถ้า (เราเองและลูกค้า) จะใช้สารนี้อย่างปลอดภัย จะต้องทำอะไรบ้าง หลังจากได้ข้อมูล/แนวทางมาแล้วก็ดำเนินการตามนั้น พร้อมทั้งแจ้งข้อมูลให้ลูกค้าทราบ

แต่ถ้าจะเลิกใช้ ก็วางแผนกันไป เสร็จแล้วอย่าลืมวางมาตรการป้องกัน ไม่ให้สารไม่พึงประสงค์เหล่านั้น เล็ดลอดเข้ามาปนเปื้อนกับสินค้าที่ผลิต จากนั้นก็สื่อสารข้อมูลให้กับลูกค้าทราบต่อไป

สุดท้าย อย่าลืมว่า SVHC-C มันเป็นบัญชีที่มีชีวิต (Living List) จะมีการเพิ่มสารเคมีรายการใหม่ทุก 6 เดือน เกี่ยวกับเราบ้างไม่เกี่ยวกับเราบ้าง แต่ก็ต้องคอยตรวจสอบ List ใหม่เทียบกับบัญชีสารเคมีของบริษัท เป็นประจำ 

 

ไม่จำเป็น และไม่สามารถเพราะ SVHC-C บางตัวไม่สามารถคงรูปอยู่ได้ในบรรยากาศปกติ (หมายความว่าไม่มีโอกาสที่จะมีสารนี้ปนเปื้อนในสินค้า) 

REACH ไม่ได้กำหนดให้ต้องยืนยัน "การปลอด SVHC-C" แต่ละรายการ ทั้งยังไม่ได้ห้ามใช้สารเหล่านี้ เพียงแต่กำหนดให้ผู้ขาย ต้องแจ้งผู้ซื้อให้รู้ว่า สินค้าใด ชิ้นส่วนไหน มี SVHC-C รายการใด เกิน 0.1% โดยน้ำหนักผลิตภัณฑ์เริ่มแรก 

บัญชี SVHC-C เป็นบัญชีที่ไม่จำเพาะเจาะจงอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง SVHC-C บางรายการเช่นน้ำหอม อาจมีใช้ในบางผลิตภัณฑ์เฉพาะด้านเช่นแผ่นกระดาษดับกลิ่นในรถยนต์ ผู้ผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องก็คงต้องยืนยันส่วนผสม หากเกิน 0.1% ก็ต้องแจ้งลูกค้าพร้อมให้คำแนะนำการใช้สินค้าอย่างปลอดภัย ส่วนผู้ผลิตอื่น เช่นผู้ผลิตน๊อต ที่ไม่มีเหตุผลให้ต้องใช้น้ำหอม และก็คงไม่สามารถใส่น้ำหอมในน๊อตให้คงรูปอยู่จนสินค้าส่งไปจนถึงมือลูกค้าปลายทางได้ ก็ไม่ต้องทำอะไร หรือหากลูกค้าต้องการ (เพื่อความสบายใจของลูกค้า) บริษัทก็สามารถออกเอกสารรับรองตนเองได้เลย 

ทำนองเดียวกัน SVHC-C บางรายการ เป็นสารที่ใช้ในกระบวนการผลิต ที่หลังเกิดการแปรสภาพแล้ว จะไม่เหลือสารเดิมติดไปกับตัวผลิตภัณฑ์ (เช่น น้ำยาชุบผิวโลหะ สิ่งที่ไปกับสินค้าคือชั้นโลหะไม่ใช่ตัวน้ำยา หรือกาวอีพอกซี่ที่มีส่วนประกอบเรซิ่นและ Harderner แต่ส่วนที่จะติดไปกับสินค้าไม่ใช่ทั้ง 2 รายการ แต่ละเป็นสารเคมีชนิดใหม่ (อีพอกซี่ที่ Cure แล้ว)) ตรงนี้ ลูกค้าที่สงสัยว่าอาจมีการปนเปื้อน (ซึ่งไม่น่าจะเป็นเหตุการณ์ปกติ) ก็อาจร้องขอให้มีการทดสอบ แต่ทางที่ดีกว่าน่าจะเป็นการควบคุมการผลิตให้ดี อย่าให้เหลือน้ำยาหรือเรซินที่ Cure ไม่หมดติดไปกับตัวสินค้า เพราะสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพของสินค้า เห็นผลได้ทันตา ไม่ต้องรอให้ Lab พิสูจน์

Latest Forum

  • ไม่มีกระทู้แสดง

Who's Online

มี 58 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

© 2023 ThaiRoHS.org. All Rights Reserved.