ขึ้นกับว่าต้องการ Cert สำหรับสินค้าประเภทใด (แต่ตั้ง Budget ไว้เท่าไร?)
ถ้าสินค้าเป็นเคมีภัณฑ์ ที่ง่ายๆ เช่น น้ำ หรือแอลกอฮอล์ Lab วิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็สามารถทดสอบให้ได้เกือบทุกรายการ บาง Lab อาจใจดีรวมกลุ่มสารและวิเคราะห์รวมกันให้เพื่อลดค่าทดสอบ (เช่น ทดสอบตะกั่ว เพื่อยืนยัน SVHC-C กลุ่มสารประกอบตะกั่วทั้ง 27 รายการทีเดียว) แต่แม้จะทำถึงขั้นนี้แล้วก็ตาม ค่าใช้จ่ายก็ยังจะสูงเพราะใน List มีสารเคมีที่ทดสอบยากหลายรายการ เช่น PBDE, HBCDD, SCCP, PFOS, PFOA, Aniline, Azo, ...
ถ้าเป็นชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ถ้าผู้ผลิตไม่มีกระบวนการ หรือไม่มีการจัดการใดๆ ที่จะทำให้สามารถรับรองตนเองได้แล้ว เชื่อว่าไม่น่าจะมี Lab ไหนสามารถรับประกันสินค้าแทนผู้ผลิตได้ หรือถ้ามี Lab ไหนออกให้ ลูกค้าก็คงไม่เชื่อ แถมจะลามไปถึงความเชื่อมั่นของตัว Lab ที่ให้ใบรับรองนั้นด้วย การรับรอง SVHC-C เราดูกันที่ส่วนผสมสารเคมีในเนื้อผลิตภัณฑ์ ซึ่งมันแปรผันตามสารเคมีและกระบวนการผลิตที่ Supplier ใช้ตลอดสายโซ่การผลิต เปลี่ยน Supplier ส่วนผสมก็เปลี่ยน Supplier เปลี่ยนแหล่งวัตถุดิบ ส่วนผสมก็เปลี่ยน ผู้ผลิตปรับกระบวนการผลิต ส่วนผสมก็เปลี่ยน ถ้าคุมตลอดเส้นทางนี้ไม่ได้ ใบ Cert ก็เป็นแค่กระดาษที่เปื้อนหมึก
มากไปกว่านั้น รายชื่อ SVHC-C โตขึ้นทุก 6 เดือน Lab ที่ทดสอบ/รับรองสินค้าให้ได้ในวันนี้ ไม่มีทางรู้เลยว่า สินค้านั้นๆ จะมีส่วนผสมของสารเคมีใน List ใหม่หรือไม่ จึงไม่มีใครบอกได้ว่าสินค้าจะเป็น "REACH Compliant"
ถ้าดูกันดีๆ จริงๆ แล้ว REACH SVHC-C ไม่ได้มีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับตัวสินค้า จึงไม่มีสินค้าที่เป็น "REACH Compliant" ไม่เหมือน RoHS/ELV แต่ REACH มีข้อกำหนดให้ผู้ประกอบการตลอดสายโซ่การผลิตต้องทำหน้าที่ของตนเอง เพื่อทำให้ทุกคนสามารถใช้สารเคมีกันได้อย่างปลอดภัย การโยนภาระไปให้ Lab ทำหน้าที่นี้แทน ก็คงไม่ช่วยให้ บริษัท, Supplier, หรือลูกค้าได้รับความปลอดภัยมากขึ้น
สำรวจสารเคมีในผลิตภัณฑ์ของตนเองก่อน ดูว่ามีอะไรบ้าง และมีอะไรที่เป็นสารอันตรายที่ควรต้องเป็นห่วงบ้าง เริ่มจากบัญชี SVHC-C ก่อน ถ้าดูแล้วไม่รู้ว่าในสินค้าที่ผลิตมีสารเคมีอะไรภายในบ้าง ก็คงต้องถาม Supplier ถ้าพบว่ามีสารที่ต้องเป็นห่วง ก็ต้องตัดสินใจต่อว่าจะใช้ต่อ หรือจะเลิกใช้ (เปลี่ยนสูตรหรือเปลี่ยน Supplier แล้วแต่กรณี)
ถ้าจะใช้ต่อ ก็มาดูต่อว่าสารนั้นๆ มันเป็นอันตรายอย่างไร ถ้า (เราเองและลูกค้า) จะใช้สารนี้อย่างปลอดภัย จะต้องทำอะไรบ้าง หลังจากได้ข้อมูล/แนวทางมาแล้วก็ดำเนินการตามนั้น พร้อมทั้งแจ้งข้อมูลให้ลูกค้าทราบ
แต่ถ้าจะเลิกใช้ ก็วางแผนกันไป เสร็จแล้วอย่าลืมวางมาตรการป้องกัน ไม่ให้สารไม่พึงประสงค์เหล่านั้น เล็ดลอดเข้ามาปนเปื้อนกับสินค้าที่ผลิต จากนั้นก็สื่อสารข้อมูลให้กับลูกค้าทราบต่อไป
สุดท้าย อย่าลืมว่า SVHC-C มันเป็นบัญชีที่มีชีวิต (Living List) จะมีการเพิ่มสารเคมีรายการใหม่ทุก 6 เดือน เกี่ยวกับเราบ้างไม่เกี่ยวกับเราบ้าง แต่ก็ต้องคอยตรวจสอบ List ใหม่เทียบกับบัญชีสารเคมีของบริษัท เป็นประจำ
มี 68 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์