เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2018 ที่ผ่านมา ECHA ประกาศ Commission Regulation (EU) 2018/2005
- เพิ่ม DIBP ในรายการ Phthalate ในรายการสารต้องห้ามรายการที่ 51 ใน REACH Annex XVII
- ขยายขอบเขตการห้ามใช้ให้ ครอบคลุม "Plasticised Material" ทุกชนิด
- เริ่มมีผล กรกฎาคมปีหน้า (7 ก.ค. 2020)
Phthalates - เพิ่มรายการในข้อห้ามเก่า (รายการที่ 51)
รายการสารต้องห้ามที่ประกาศใหม่นี้ แปลกกว่าข้ออื่นที่คุ้นเคยกันคือ เป็นข้อห้ามรายการเก่า (รายการที่ 51) ซึ่งเดิมมีพธาเลท 3 ชนิดได้แก่ DEHP, BBP และ DBP มาในรอบนี้ ECHA เพิ่มตัวใหม่อีก 1 รายการ ได้แก่ Diisobutyl phthalate หรือ DIBP ทำให้รายการพธาเลทที่เป็นสารต้องห้ามในข้อนี้รวมเป็น 4 ชนิด (ผู้ที่ติดตามรายการสารต้องห้ามโดยใช้วิธีตามดูสารรายการใหม่ อาจต้องระวังตรงนี้ไว้ - รายการเก่าๆ ก็มีการสอดไส้สารใหม่ๆ เข้าไปได้)
ขยายขอบเขต - Ban พธาเลท 4 ชนิดในวัสดุเนื้อนิ่มทุกชนิด
เดิมข้อห้ามข้อนี้มีผลบังคับใช้เฉพาะกับสินค้าประเภทของเล่นและผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก แต่กฎหมายฉบับใหม่ได้ขยายขอบเขตข้อห้ามนี้ ให้ครอบคลุม "วัสดุเนื้อนิ่ม" (Plasticised Material) ทุกชนิด โดย คำว่า "วัสดุเนื้อนิ่ม" (Plasticised Material) ตามกฏหมายฉบับนี้หมายถึงวัสดุเนื้อเดียวต่อไปนี้:
- โพลิไวนิลคลอไรด์ (PVC), โพลิไวนิลิดีน คลอไรด์ (PVDC), โพลิไวนิลอะซิเตท (PVA) และโพลิยูรีเธน (PU)
- โพลิเมอร์ชนิดอื่น (รวมทั้ง โฟมโพลิเมอร์และวัสดุกลุ่มยาง) แต่ไม่รวม ยางซิลิโคน (Silicone Rubber) และผิวเคลือบลาแทกซ์ธรรมชาติ (Natural latex coatings)
- วัสดุเคลือบผิว (Surface coatings), ชั้นเคลือบกันลื่น (non-slip coatings), วัสดุแต่งเสร็จ (finishes), รูปลอกสติกเกอร์ (Decals), และแผ่นพิมพ์ (Printed design)
- กาว, Sealants, สีทา และหมึก
รายการสินค้าที่อยู่นอกขอบเขต
ข้อห้ามนี้ไม่ใช้กับสินค้าต่อไปนี้
- ผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรมหรือภาคการเกษตรโดยเฉพาะ หรือสำหรับใช้เฉพาะในที่โล่ง (use exclusively in open air) โดยชิ้นส่วนเหล่านี้ไม่มีโอกาสสัมผัสกับเนื้อเยื่อหรือผิวหนังมนุษย์เป็นเวลานาน
- เครื่องมือวัดสำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการ
- บรรจุภัณฑ์อาหาร (ควบคุมโดยกฎหมายเฉพาะด้านที่เข้มงวดกว่า)
- เครื่องมือแพทย์ (ควบคุมโดยกฎหมายเฉพาะด้านที่เข้มงวดกว่า)
- เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ควบคุมโดยระเบียบ RoHS)
- บรรจุภัณฑ์ยา (immediate packaging for medicial products)
ขีดจำกัดและวันบังคับใช้
ความเข้มข้นของพธาเลททั้ง 4 ชนิด รวมกันต้องไม่เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก "Plasticised Material" (=วัสดุเนื้อเดียว แต่สนใจเฉพาะวัสดุกลุ่ม "พลาสติกเนื้อนิ่ม") โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 7 กรกฎาคม 2020
Note:
- กรณีของเล่นและสินค้าสำหรับเด็กที่เดิมมีข้อห้ามอยู่แล้ว ข้อห้ามเดิมก็ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ แต่จะมี DIBP ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ ผู้ผลิตสินค้าที่เคยสอดคล้องอยู่แล้ว ก็ต้องทำการประเมิน DIBP เพิ่มเติมให้แล้วเสร็จก่อน 7 ก.ค. 2020
- กรณีชิ้นส่วนยานยนต์ และชิ้นส่วนเครื่องบิน - เริ่มบังคับใช้วันที่ 7 ก.ค.2024
ผลกระทบ?
พธาเลททั้ง 4 รายการไม่ใช่ของใหม่ แต่ได้ถูกบรรจุใน SVHC-C มาแล้วตั้งแต่ Lot แรกๆ มีผลให้ต้องมีการสื่อสารข้อมูลตลอดสายโซ่การผลิต ทั้งยังมีกฎหมายเฉพาะทางอาทิ RoHS ที่ห้ามใช้พธาเลททั้ง 4 รายการ ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ ก.ค. ปีนี้ (ขีดจำกัดอาจแตกต่างกันเล็กน้อย) ในช่วงก่อนกฎหมายฉบับนี้จะออก จะมีประเด็นทางเทคนิคให้ต้องพิจารณาเพื่อแยกแยะปลายทางของสินค้า ว่าเป็นสินค้าสำหรับเด็กหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือไม่ แต่หลังจากที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ผลที่จะเห็นได้ชัดที่สุดคือ "Total Ban" สำหรับพธาเลททั้ง 4 รายการ ไม่จำเป็นต้องมีการแยกแยะอีกต่อไป การแยกแยะที่จำเป็นจะมีเพียงดูว่าเป็นสินค้าที่ได้รับการผ่อนผันวันเริ่มบังคับใช้ (ยานยนต์และเครื่องบิน) หรือเป็นสินค้าที่อยู่นอกขอบเขต (สินค้าสำหรับงานอุตสาหกรรมและเกษตร) เท่านั้น
อุตสาหกรรมไฟฟ้าฯ มีเวลา 3 ปีครึ่ง (ตั้งแต่ปี 2015) ในการปรับสินค้าให้สอดคล้องกับข้อกำหนดพธาเลทใน RoHS 2 แต่สินค้าประเภทอื่นที่เพิ่งเคยถูกห้ามเป็นครั้งแรก จะมีเวลาเตรียมตัวเพียง 1 ปีครึ่ง ก็คงต้องเร่งดำเนินการ แต่ก็คงไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ เพราะมีโครงสร้างการควบคุมในสายโซ่การผลิตที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าฯ ได้บุกเบิกไว้ล่วงหน้ารองรับอยู่แล้ว